ประวัติความเป็นมา

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเริ่มมีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรแรก คือหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการโครงการสวัสดิการสังคม ในปีการศึกษา 2535 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ต่อมาในปีการศึกษา 2537 ได้จัดตั้งบัณฑิตศึกษา เพื่อดูแลรับผิดชอบงานบัณฑิตศึกษา ในปีการศึกษา 2539 คณะบริหารธุรกิจได้เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต

ในปีการศึกษา 2545 ได้มีการเปิดหลักสูตรสหสาขาวิชาคือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการระบบสุขภาพ 

ในปีการศึกษา 2548 คณะพยาบาลศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาล เวชปฏิบัติชุมชน และคณะบริหารธุรกิจได้เปิดหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม ปีการศึกษา 2550 คณะศิลปศาสตร์ ได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีจีนสมัยใหม่และร่วมสมัย ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เป็นความร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ปีการศึกษา 2551 มีการเปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 2 คณะวิชา คณะเภสัชศาสตร์เปิด  2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง และหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม ส่วนคณะนิเทศศาสตร์เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารสุขภาพ 

ในปีการศึกษา 2552 คณะนิเทศศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารสุขภาพ   และคณะพยาบาลศาสตร์เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ และคณะศิลปศาสตร์เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง  

ในปีการศึกษา 2554 คณะศิลปศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษระดับสูง เพื่อการสื่อสาร คณะภาษาและวัฒนธรรมจีนเปิด 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อการสื่อสารเชิงธุรกิจ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีน และคณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  

ในปีการศึกษา 2555 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก คือหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานโยบายและการบริหารสวัสดิการสังคม ถือเป็นหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัย

ในปีการศึกษา 2556  ได้รับการอนุมัติเปิดหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม 

ในปีการศึกษา 2557 มีการเปิดหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ คณะเทคนิคการแพทย์ เปิดหลักสูตรเทคนิคการแพทยมหาบัณฑิต และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคมเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก คือ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม นับเป็นหลักสูตรปริญญาเอกหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้รับการรับรองวิทยฐานะในชั้นปริญญาเอกตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป 

ในปีการศึกษา 2558 มีการพิจารณารับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม  มีการขอรับรองวิทยฐานะในชั้นปริญญาโท  คณะภาษาและวัฒนธรรมจีนมีการเปิดดำเนินการสอนหลักสูตรปริญญาเอก คือ หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีน นับเป็นหลักสูตรปริญญาเอกหลักสูตรที่สองของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้รับการรับทราบจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2559 

ในปีการศึกษา 2561 คณะศิลปศาสตร์ เปิดหลักสูตรปริญญาโท 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในงานอาชีพ

ในปีการศึกษา 2563 คณะบริหารธุรกิจ เปิดหลักสูตรปริญญาโท 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล

ในปีการศึกษา 2564 คณะศิลปศาสตร์ เปิดหลักสูตรปริญญาเอก 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง

ปัจจุบันมีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาทั้งสิ้น 9 หลักสูตร หลักสูตรปริญญาโท จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน 2) หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง 3) หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีน 4) หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อการสื่อสารเชิงธุรกิจ 5) หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม และ 6) หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล หลักสูตรปริญญาเอก จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม 2) หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาจีน 3) หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยและรับทราบจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งในหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ได้รับความเห็นชอบจากสภาการพยาบาล ได้รับการรับรองวิทยฐานะในชั้นปริญญาโทและปริญญาเอก